top of page

Design Inspiring Node

Eco-Shop เพื่อโลกที่เย็นขึ้น


The Eco-Shop by Top Pipat Apirakthana Apirakthanakorn, a trendy looking actor who graduated from Srinakarinwirot University, majoring in product design, focuses on green issues to help save the world. After spending time in showbiz industry, Top has changed his focus back to design business by returning to college to complete a second degree in Eco furniture and products. Inspired by the movie “The Inconvenient Truth”, Top realized how much we can contribute to the environment and subsequently created his first product, “Need Chair” for the brand Osisu. His product is not only a useful decoration but also something with hidden and meaningful wisdom. His definition of “eco-friendly” is not limited to the material used to construct furniture but it also includes every process of production from factory management, logistical design, delivery, and waste management. The Eco-shop is the only shop in Thailand that sells eco-friendly products for the environment besides, it is a center to sell eco products from suppliers through out Thailand who share the common goal. One interesting thing about this Eco-shop is that his sales people are deaf but Top states that this doesn’t prevent them from selling his product. He compares his shop to a museum where everyone can understand what’s being displayed just by reading. Similar concept is also applied at the shop and it is good for shoppers to spend their time looking without being interfered with by talkative sales people. His long-term goal in this business is that he would like to be an eco friendly consultant who will manage and recommend best solutions for client’s business. To get inspired, visit his Eco-Shop today at Digital Gateway, 1st floor.

ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร พระเอกมาดเซอร์ได้พลิกบทบาทตัวเองจากผู้อยู่เบื้องหน้ามาอยู่เบื้องหลังสินค้ารักษ์โลก และได้ตัดสินใจเปิดร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ด้วยความหวังลึกๆ ว่าสภาพแวดล้อมของโลกน่าจะดีขึ้น ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นไปได้ยากก็ตาม หลังจากที่ท็อปก้าวเข้าก้าวออกวงการออกแบบอยู่หลายครั้ง มาวันนี้ท็อปได้สร้างความตั้งใจส่วนหนึ่งของเขาให้เป็นไปได้แล้ว

DIN : เรื่องราวของการออกแบบของท็อปเริ่มจากตรงไหน

Top : ตอนที่เรียนมัธยม ก็รู้แหละว่าตัวเองชอบศิลปะ แต่รู้ตัวว่าเรียนไม่เก่ง ฉะนั้นอะไรที่ต้องใช้วิทย์-คณิตนี่ตัดไป ต้องค้นหาตัวเองว่า “ศิลปะ” ที่ชอบมันคือแขนงใด ผมเลือกที่จะไปเรียนรู้ด้วยการเข้าไปที่ ม.ศิลปากร ที่มีรุ่นพี่ตามคณะในศิลปากรมาสอน ผมก็ไปเรียนมันหมดน่ะครับไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือปั้น แล้วสุดท้ายก็มา รู้ว่าสิ่งที่ชอบก็คือการออกแบบภายใน แล้วก็การออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนสถาปัตยกรรมนี่ตัดไปตั้งแต่เริ่มต้น เพราะว่าคงจะไปสอบฟิสิกส์หรือเลขคณิตก็คงไม่ไหว สุดท้ายตอนเลือกเอนท์เข้ามหาวิทยาลัย นอกจากจะเลือกตามสิ่งที่ชอบแล้วจะยึดหลักว่าเน้นใกล้บ้านซึ่งอยู่แถวนานา ซึ่งก็มี มศว. ตรงอโศกที่เค้าเปิดสอบตรงจึงไปสอบก่อนที่จะมีการเอนทรานซ์ แล้วก็ติดคณะศิลปกรรม ออกแบบผลิตภัณฑ์

DIN : ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปเรียน ตั้งเป้าหมายเลยหรือเปล่าว่าจบแล้วจะทำอะไร

Top : คือผมไม่เคยเขวกับเส้นทาง ตั้งแต่เด็กชอบศิลปะ แล้วผมก็มาเรียนรู้เรื่องงานออกแบบว่าต้องเป็นงานที่ใช้สมองในส่วนที่เป็นความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเรื่องที่เป็นตรรกะ แต่พอเรียนจบก็ไม่ได้เข้ามาทำงานด้านออกแบบเลยทันที เพราะว่าชีวิตผมมันหักเห ช่วงปี 3 ขึ้นปี 4 ผมเข้าไปฝึกงานที่บริษัท Human Touch แล้วเข้าไปเห็นห้องที่เขาเก็บของที่ค้างสต็อก มันมีตำหนินิดหน่อย ช่วงนั้นปิดเทอมพอดีก็เลยขอของเขามาขาย แต่ขอในที่นี้ก็คือถ้าผมขายได้ผมจะเอาต้นทุนคืนเค้า แล้วกำไรผมเก็บไว้ แล้วช่วงที่ไปขายของก็มีผู้จัดละครมาเจอผมก็เลยเบนเข็มเข้าไปในวงการบันเทิงเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาผมได้กลับไปเรียนปริญญาโท เพราะรู้สึกว่าอยากจะเปิดร้านขายของดีไซน์ และช่วงก่อนเรียนจบก็ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เจอกับคุณจ๋า วีรนุช ตันชูเกียรติ เจอกับ อ.สิงห์ อินทรชูโต ที่เป็นบัดดี้ของแบรนด์ Osisu จึงได้รับการชักชวนให้กลับเข้าสู่วงการออกแบบอีกครั้ง อันนั้นก็เป็นจุดหักเหกลับเข้ามาในวงการออกแบบ

DIN : ทำไมต้อง “เพื่อสิ่งแวดล้อม”

Top : ตอนนั้นไปดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ที่เกี่ยวกับการรณรงค์ของ Al Gore ที่มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการให้ความรู้ความเข้าใจกับคนทั่วไปในเรื่องของภาวะโลกร้อน แล้วเค้าเปรียบเทียบได้น่าสนใจมาก ด้วยกะละมังสองใบที่ใส่น้ำร้อน กับน้ำอุ่นที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ พอหย่อนกบลงอันที่ใส่น้ำร้อนกบมันกระโดดหนีเลยนะ แต่พอหย่อนลงอันอุ่นกบมันก็นอนแช่ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่าอันตรายรออยู่ไม่ไกล เพราะความร้อนมันก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ พอดูจบแล้วมันรู้สึกโดนมาก เราเคยรู้จักคำว่า Green House Effect แต่เรารู้เพื่อจำไปสอบเฉยๆ เราไม่ได้ใส่ใจอะไรมันเลย ถ้าเราอยู่เฉยๆ นั่งรอไปเรื่อยๆ มันไม่เวิร์คเลย ถ้าเรานำแนวคิดมาปรับมันก็น่าจะทำอะไรได้บ้าง

DIN : “เฟอร์นิเจอร์เพื่อสิ่งแวดล้อม” เป็นแค่เรื่องของวัสดุที่นำมาใช้ผลิตหรือเปล่า

Top : ผมนำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่าย เห็นภาพชัดเจน แล้วมันนำมาทำได้เลย แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันมีวงจรของการคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมในมุมมองอื่นๆ อีกเยอะ เราต้องมองตั้งแต่ต้นว่าวัตถุดิบนี้มันได้มาจากอะไร เราสามารถลดทอนวัตถุดิบ เช่นจากเคยใช้ 100 ลดเหลือ 40 ไหม แต่ผลออกมาเหมือนกัน แล้วถัดมาก็เป็นเรื่องของขั้นตอนการผลิต โรงงานต่างๆ น้ำมันที่ใช้กับเครื่องจักร การที่ต้องทำโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคนิคต่างๆ ในการออกแบบการผลิต เสร็จแล้วก็เป็นเรื่องของการขนส่งจากโรงงานไปถึงผู้บริโภค ต้องออกแบบให้ขนส่งได้คราวละเยอะๆ เพราะจะได้ลดการเกิดมลพิษ ไปรอบเดียวขนได้เท่า 2 คัน น้ำมันก็ไม่ต้องเสียมากขึ้น พลังงานคนก็ลดลง และเราจะออกแบบอย่างไรให้คนใช้งานมันได้นานๆ มีการใส่ฟังก์ชั่นเข้าไป สุดท้ายเราก็ต้องจัดการกับวัสดุ สิ่งของเหลือใช้ เราเลือกได้ว่าจะกำจัดมันหรือเปล่า ฝัง ทิ้ง กลบ เผา หรือคุณจะเอามันกลับมาเป็นวัสดุตั้งต้น คือมันมีหลายวิธีในการคิดดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม

DIN : ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ทำคืออะไร

Top : ชิ้นแรกคือ เก้าอี้ที่เรียกว่า Need Chair ซึ่งทำจากเศษไม้อัด ที่ปกติคนจะทิ้งหลังจากตัดไปใช้งานแล้วเหลือเป็นเศษๆ นำมาตัดให้เป็นชิ้นเท่าๆ กันนำมาเรียงต่อกัน แต่ผมก็ใส่ความเป็นเรื่องราวเข้าไปด้วย ลักษณะของมันจะเป็นเหมือนล้อรถที่มีที่ค้ำอยู่ข้างหลัง ซึ่งแนวคิดนี้ได้มาจากตอนไปถ่ายทำรายการขากลับมาจากสระบุรี แล้วเห็นรถสิบล้อมันจอดอยู่บนเนิน แล้วมีขอนไม้ขัดไว้ด้านหลังเพื่อกันรถไหลซึ่งเป็นภาพชินตามาก แล้วเราก็คิดต่อไปว่าตามปกติคนเรามักให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ไกลตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็น เจ้านาย เพื่อน แฟน แต่ถ้าเป็นพ่อแม่ เราก็จะรู้อยู่แล้วว่าเค้ารักเราอยู่แล้ว มีอะไรก็จะเถียงเต็มที่ ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ก็สำคัญกับชีวิตเรา แต่ในความรู้สึกก็คือเหมือนไม่สำคัญ แต่จริงๆ ก็ขาดไม่ได้นะ ซึ่งก็เหมือนไม้ขัดที่ทำให้รถบรรทุกทั้งคันไม่ไหลลงมาจากเนินเขาได้มันคือ “สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้” ผมจึงนำมาพัฒนาเป็นเก้าอี้ตัวนี้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำร่วมกับสยาม และรายได้ที่ได้มาก็จะนำไปบริจาคให้การกุศลต่อไป

DIN : แล้วมาเป็น Eco-Shop ได้อย่างไร Top : มันมาจากความฝันสมัยเรียนดีไซน์ว่าอยากอยู่กับการออกแบบ ช่วงแรกๆ ผมทำงานออกแบบให้ทาง Osisu และเป็นตัวแทนออกแบบให้กับ สวทช. เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง เราก็ออกแบบโคมไฟชื่อ Flip Lamp ที่ทำมาจากเศษด้ายสายคล้องผ้าม่าน เอาไปให้เจ้าของโรงงาน เค้าถามผมว่าแล้วจะเอาไปวางขายที่ไหน ขายยังไงดี ผมก็เลยคิดได้ว่าจริงๆ ร้านขายของเพื่อสิ่งแวดล้อมนี่มันแทบจะไม่มีเลย คนก็แทบจะไม่รู้จัก นั่นคือเหตุผลหนึ่ง ส่วนอีกเหตุผลก็คือมีการประกวดเพื่อสิ่งแวดล้อมเยอะมาก พอเห็นสินค้าก็ชอบ อยากรู้ว่าเค้าจะเอาไปขายต่อหรือเปล่าหลังจากประกวดเสร็จแล้ว ไม่รู้จะไปตามหาได้ที่ไหน ก็เลยตัดสินใจเปิดเป็น Eco-Shop ดีกว่า ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทย

DIN: แล้วประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมไหม Top : คนส่วนใหญ่มักนึกถึง “สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม” ว่าต้องเป็นของจากไม้ หรือธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เป้าหมายของผมคือภายใน 2-3 ปีแรกต้องการให้คนรับรู้ว่า Eco-shop คืออะไร ทำเพื่ออะไร ซึ่งก็ดีนะครับ มีคนรู้จักเยอะ ร้านผมจะเป็นการรวบรวมสินค้าจากหลายๆ แหล่งทั่วประเทศที่มีการดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ให้คนอื่นมาฝากขายได้ สามารถนำมาลองตลาดกันได้ และนำกลับไปพัฒนาต่อไป ช่วงแรกมีของน้อยมากแค่ 20% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่พอเวลาผ่านไปตัวเลขก็กลับกัน กลายเป็นของไทยคนไทยเราเอง 80%

DIN : การมีคนขายของเป็นคนใบ้ สร้างอุปสรรคทางการค้าหรือเปล่า Top : ไม่นะครับ คนในร้านมี 3 คน 2 คนหูหนวกแต่ว่าเค้าก็ขายของได้ มีความกระตือรือร้น สนใจในสินค้าเรา ผมก็เลยชักชวนมาขายของที่ร้าน เพราะสินค้าผมส่วนใหญ่จะมีคำอธิบายกำกับไว้ทุกชิ้นเหมือนเวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ไม่เห็นต้องมีใครมาคอยยืนอธิบายเลย บางทีคนซื้ออาจจะไม่ชอบก็ได้ที่ต้องมีคนขายมาคอยยืนนำเสนอนั่นนี่

DIN : เป้าหมายสูงสุดของการทำร้าน Eco-Shop คืออะไร Top : อยากให้เวลาคนไทยอยากทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ให้นึกถึงเรา เพราะนอกจากสิ่งแวดล้อมแล้วมันยังเป็นเรื่องคนอีกด้วย เช่น หากใครอยากสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้นึกถึงเรา เพราะเราจะมีทีมงานให้คำปรึกษา หรือแม้กระทั่งของ Premium หรือกิจกรรมต่างๆให้มาเจอมาคุยกับเรา เราอาจแนะนำให้เข้าโครงการ OTOP พัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ เหมือนมีเหตุด่วนเหตุร้ายให้นึกถึง 191 อะไรประมาณนั้น

หากใครสนใจก้าวสู่วงการออกแบบ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมสามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมร้านของ ท็อป พิพัฒน์ ได้ที่ Digital Gateway ชั้น 1

Source: ISSUE 02 JUNE 2012

Fill your name, email and press subscribe

FOLLOW US
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Pinterest Icon
  • Black Instagram Icon
SEARCH BY TAGS
No tags yet.
FEATURED POSTS
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
ARCHIVE

 Fill your name, email and press subscribe

bottom of page