top of page

Design Inspiring Node

DESIGN THAT RESCUES THE NATION : STREET STALLS ดีไซน์กู้ชาติ : ร้านค้าริมทาง

Street Stalls are definitely something Thai people are familiar with, and they are what many locals in each province create income from and use to transfer their wisdom or share local innovation to anyone passing by to purchase. However, many people raise questions about why all the shops look identical. So how each shop can be distinct from others? What if the leading designers in Thailand offer their help to these locals in the makeover project called “TIDA TEN+ led by Mr. Somchai Chongsang, let see how 11 types of street stalls transform with a budget of under 40,000 Baht/shop.

นก หนู งูเห่า เป็ดพะโล้ ไม้กันหนู ปลาทู ปลาสลิด ฯลฯ คุณเคยซื้อสินค้าเหล่านี้จากร้านค้าริมทางบ้างมั้ย? ผมเชื่อว่าเพิงร้านค้าเหล่านี้เป็นภาพคุ้นชินและเคยผ่านตาชาวไทยทุกคนมาไม่มากก็น้อย มันเป็นเหมือนปรากฏการณ์คู่ขนานตอนขับรถผ่านจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่ง เป็นเหมือนนิทรรศการชั่วคราว (บางวันขาย-บางวันไม่ขาย) หรือกึ่งถาวรของกลุ่มชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ริมถนนเพื่อสร้างรายได้ ระบายสินค้าชุมชน ถ่ายทอดภูมิปัญญาหรือแบ่งปันนวัตกรรมพื้นบ้าน ให้กับคนผ่านไปผ่านมาได้มีโอกาสซื้อหาไปใช้กัน

แต่ทำไมสินค้าและหน้าตาแต่ละร้านต้องเหมือนกัน แล้วจะจำได้เหรอว่าร้านไหนเป็นร้านไหน?

คงเป็นชุดคำถามถัดมาที่หลายคนคงเคยขบคิด จริงๆ ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นการนำ “ของดี” แต่ละย่านมาให้เลือกชมเลือกชิม แต่พอเหมือนกันไปหมดก็ไม่รู้จะเลือกซื้อร้านไหน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวลามไปถึงร้านค้าริมทางในอีกหลากหลายประเภท เช่น เราไม่อาจแยกแยะร้านซ่อมกุญแจ ร้านขายพวงมาลัย ร้านน้ำพริก ร้านส้มตำ ฯลฯ เพราะทุกร้านมีหน้าตาเหมือนกันไปหมด

แล้วถ้าดีไซเนอร์มาออกแบบร้านค้าริมทางเหล่านี้ หน้าตาจะเป็นยังไง? คำถามที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เพราะป้าๆ น้าๆ ลุงๆ จะมีสตางค์มาจ้างนักออกแบบได้อย่างไร ถูกทลายด้วยโครงการ TIDA TEN+ นำโดยคุณสมชาย จงแสง อุปนายกฝ่ายวิชาชีพ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) ซึ่งชักชวนนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงมาร่วมหาคำตอบของร้านค้าริมทางรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยถูกออกแบบมาก่อนจำนวน 11 ร้านค้า ได้แก่ ร้านซ่อมกุญแจ ร้านขายพวงมาลัย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านส้มตำ ร้านกระเพาะปลา ร้านน้ำพริก ร้านข้าวสาร ร้านตัดผม ร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ร้านหนังสือ และร้านตัดเสื้อ

การตีความมันๆ ผ่านมุมมองสนุกๆ โดยใช้วัสดุบ้านๆ ในงบประมาณที่ปวดใจนักออกแบบ (40,000 บาทต่อร้าน) ซึ่งสมาคมมัณฑนากรฯ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมของเงินลงทุนในธุรกิจ SME ใครจะคิดว่า ปิตุพงษ์ เชาวกุล แห่งซุปเปอร์แมชชีนสตูดิโอ จะออกแบบ “ร้านขายพวงมาลัย” โดยนำแนวคิดจากแอร์โฮสเตสสาวที่ลากกระเป๋ามาเป็นแรงบันดาลใจทำรถขายพวงมาลัยพับได้ ลากได้ โชว์พวงมาลัยเหมือนรถขายปลาหมึกย่าง เล็กอยู่ล่างใหญ่อยู่บน เช่นเดียวกับ “ร้านส้มตำ” ที่ออกแบบโดย PIA และ Hypothesis นำความบ้านๆ ผสมกับการกินแบบด่วนๆ ของฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นรถขายส้มตำ “แดกด่วน”

ดูเหมือนคำว่า “บ้านๆ” เมื่อผ่านการตีความจากดีไซเนอร์จะสร้างผลลัพท์ที่น่าสนใจได้ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็น “ร้านน้ำพริก” ที่ออกแบบโดย คุณกรกฏ คุณาลังการ แห่ง ดีไซน์ 103 ที่นำผ้าขาวม้ามาสร้าง Branding จาก packaging ไปจนถึงการตกแต่งร้าน เช่นเดียวกับ “ร้านขายข้าวสาร” จาก Orbit ที่นำลักษณะของนาขั้นบันไดมาจัดเป็นดิสเพลย์บาร์ข้าวได้อย่างน่าสนใจ

การมองกลับไปตั้งต้นที่ตัววัสดุแล้วตั้งคำถามว่า วัสดุธรรมดาเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง? ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ “ร้านซ่อมกุญแจ” โดย จูน เซคิโน นำวัสดุอุตสาหกรรมอย่าง ไม้อัดแฝก โครงเหล็กตัวซี และตะแกรงเหล็กฉีกมาสร้างเป็นร้านเรียบเท่ หรือ “ร้านหนังสือ” ที่ออกแบบโดยศาวินี บูรณศิลปิน กับการใช้ผ้าใบที่นำมาเย็บเป็นชั้นหนังสือสามารถกางและพับเก็บได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับ “ร้านกระเพาะปลาริมทาง” ที่ออกแบบโดย Interior Vision นำการพับกระดาษ (Origami) มาสร้างเป็นแนวคิดในการออกแบบร้านริมทางที่พับเก็บและขนย้ายได้อย่างรวดเร็ว

การสร้างโปรแกรมใหม่ให้กับร้านค้า ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาต่อยอด อาทิ “ร้านก๋วยเตี๋ยว” ออกแบบโดย IA49 มองพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างออกไป แต่ละคนสามารถเลือกส่วนประกอบของเส้น ลูกชิ้น ผักเครื่องเคียงที่แตกต่างกันตามความชอบ โดยส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้อยู่ใน packaging ที่แขวนไว้บนผนัง สามารถเลือกหยิบได้ตามชอบใจ “ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า” ที่มักจะมีสินค้าวางกองไว้มากมายถูกจัดระเบียบอยู่บนถาด ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกซ่อมของแต่ละชิ้นได้อย่างอิสระ ก็เป็นวิธีการมองอีกแบบที่น่าสนใจของอรพรรณ สาระศาลิน เชฟเฟอร์ การสร้างแรงดึงดูดกับกลุ่มเป้าหมายหลัก อย่าง “ร้านตัดผม” ที่ออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิกสาว if-it-is นำเสนอความเป็นเพศหญิงหรือ feminine มาใช้ในการตกแต่ง เช่นเดียวกับ “ร้านตัดเสื้อ” ที่นำแรงบันดาลใจจากตู้เสื้อผ้าคุณแม่ของ The Beaumont Partnership ก็สร้างความน่าสนใจได้ดีไม่แพ้กัน

ความจริงหากมอง “ร้านค้าริมทาง” ในมุมมองที่ยั่งยืนจะพบว่าร้านค้าบ้านๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพในการพัฒนาด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหากเพิ่มเอกลักษณ์ หรือมีการจัดรวมกลุ่มที่น่าสนใจ ร้านค้าริมทางข้างถนน ก็อาจกลายเป็น Community Mall ในวิถีบ้านๆ ที่มีศักยภาพในการค้าขายได้อย่างยั่งยืน เทียบเคียง “Palio” ที่เราต้องแวะซื้อของหรือถ่ายรูปอัพลงเฟซบุ๊คขณะขับรถกลับจากเขาใหญ่ หรือ “เพลินวาน” ที่ยังดักนักท่องเที่ยวจากหัวหินกลับสู่กรุงเทพฯ ได้เป็นจำนวนมาก แล้วทำไมกลุ่มร้านค้าริมทางของเราจะสู้เค้าบ้างไม่ได้ ผมเชื่อว่า “ดีไซน์กู้ชาติ” ได้

Source: ISSUE 02 JUNE 2012

Fill your name, email and press subscribe

FOLLOW US
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Pinterest Icon
  • Black Instagram Icon
SEARCH BY TAGS
No tags yet.
FEATURED POSTS
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
ARCHIVE

 Fill your name, email and press subscribe

bottom of page